ทำเว็บเมลใช้เองด้วย QNAP QmailAgent

ช่วงนี้ซนครับ พอมี QNAP Turbo NAS แล้ว มันสามารถติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานได้มากขึ้น ก็เริ่มซนอยากทำโน่นทำนี่ … วันก่อนก็เขียนถึง Qcontactz ที่เอาไว้เก็บข้อมูลที่อยู่ติดต่อไปแล้ว วันนี้ก็เลยขอเพิ่มฟังก์ชันในการรับส่งอีเมล ทำเว็บเมลเข้าไปอีก ซึ่งสามารถทำได้ด้วยแอปชื่อ QmailAgent ที่ดาวน์โหลดได้จาก AppCenter ฟรีๆ ครับ ตัวนี้ไม่เพียงแค่ทำเว็บเมลได้นะ มันยังสามารถใช้แบ็กอัพอีเมลจากบริการต่างๆ เช่น Gmail, Outlook, Yahoo! Mail ฯลฯ มาไว้ในที่เดียวได้ด้วย
ทีละขั้น … ติดตั้งและใช้งาน QmailAgent
ก่อนอื่นเลยก็ไปที่ AppCenter แล้วดาวน์โหลด QmailAgent มาครับ กด Install แล้วรอ … เรียบร้อย … พร้อมตั้งค่าเพื่อใช้งาน โหลดแป๊บเดียวเสร็จ ติดตั้งแป๊บเดียวเสร็จครับ แต่ถ้าอยากจะใช้ QmailAgent ให้เต็มเหนี่ยว แนะนำว่าต้องทำสองเรื่อง คือ
- ติดตั้ง CloudLink และ myQNAPcloud ก่อน เพื่อจะได้สามารถแชร์ไฟล์ใน QNAP Turbo NAS ผ่านลิงก์ไปกับอีเมลได้ (ถ้าติดตั้งไว้อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องทำอีก) และ
- ติดตั้ง Qcontactz เพื่อเอาไว้เป็นที่เก็บข้อมูลที่อยู่ติดต่อสำหรับใช้ใน QmailAgent ด้วย
การติดตั้งและตั้งค่าทั้ง CloudLink, myQNAPcloud และ Qcontactz ไม่ยากครับ ผมเขียนขั้นตอนไว้ระดับนึงแล้วในบล็อก และใส่ลิงก์มาให้แล้ว … ไปอ่านดูได้
ขั้นตอนต่อมาคือการเลือกว่าจะเชื่อมต่อกับบริการอีเมลอะไร ซึ่งที่เรารู้จักดีก็จะเป็น iCloud, Gmail, Yahoo! Mail และ Outlook.com ครับ ส่วนใครใช้บริการของจีน ก็มีให้เลือกอีกเพียบ และอันไหนที่ไม่อยู่ในนี้ หากรองรับ IMAP ก็ติดตั้งได้เช่นกัน (น่าเสียดาย Exchange กับ POP3 ไม่รองรับ)
จากนั้นก็แค่กรอกข้อมูลที่ต้องใช้เพื่ออนุญาตให้ QmailAgent เชื่อมต่อกับบริการอีเมลของเรา ก็เป็นอันเรียบร้อยครับ พร้อมใช้งาน ขั้นตอนไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลยจริงๆ ขอบอก … การติดตั้งครั้งแรก รอนิดนึง เพราะมันต้องทำการ Sync อีเมลมาไว้บนเครื่องครับ แต่เมื่อเสร็จแล้ว ก็จะได้ประมาณนี้แหละ
การใช้ QmailAgent มีจุดเด่นตรงที่ข้อมูลมันอยู่ใน QNAP Turbo NAS ครับ ฉะนั้นการเข้าถึงจากภายในวงแลนของเราเองก็จะรวดเร็ว และตัวมันเองก็รองรับการเชื่อมต่อกับบริการอีเมลต่างๆ หลายๆ บัญชีพร้อมๆ กันได้ และมันจะแบ็กอัพข้อมูลอีเมลทั้งหมดมาไว้ใน QNAP Turbo NAS ของเราครับ
นอกจากนี้ยังมีแอป QmailClient บนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android อีก ทำให้เราสามารถเข้าถึง QmailAgent ได้ผ่านทางสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตของเราเลย แต่ตรงนี้ต้องมีการตั้งค่า CloudLink และ myQNAPcloud ก่อนนะครับ
จุดเด่นอีกอย่างของ QmailAgent ก็คือเรื่องของการแนบไฟล์ครับ คือ ถ้าเราใช้ QNAP Turbo NAS เต็มเหนี่ยว ก็เป็นไปได้ว่าไฟล์สำคัญๆ ที่เราอยากจะแชร์ มันก็จะอยู่บน QNAP Turbo NAS อยู่แล้ว ฉะนั้น เมื่อตัวเว็บเมลมันรันจากตัว NAS เลย ก็เลยทำให้เราสามารถแนบไฟล์จาก NAS โดยตรงได้ครับ ซึ่งหากไฟล์มีขนาดน้อยกว่า 10MB เราจะเลือกได้ว่าจะแชร์แบบแนบไฟล์ไปกับอีเมลเลย หรือจะแชร์เป็นลิงก์ให้ดาวน์โหลด แต่หากไฟล์ใหญ่กว่า 10MB ก็จะกลายเป็นแชร์ลิงก์สำหรับดาวน์โหลดไฟล์จาก NAS
นอกจากนี้ วิธีการเก็บข้อมูลอีเมลของ QmailAgent คือการเก็บทีละฉบับ แยกตามปี เดือน วัน ครับ ในการหาอีเมลในแบบที่เรารู้ปีเดือนวัน เราไปหาใน File Station อาจจะง่ายกว่า และเปิดอ่านอีเมลได้จาก File Station เลย (แต่ใช้ QmailAgent ในการเปิดนะ … และก็เพราะว่ามันเก็บเป็นไฟล์นี่แหละ เลยทำให้ใช้ฟังก์ชัน Qsirch ในการช่วยค้นหาได้ด้วย โดยเปิดฟิลเตอร์ให้ค้นเฉพาะส่วนที่เป็นอีเมลได้
ตัว QmailAgent นี้จะใช้ข้อมูลที่อยู่ติดต่อจาก Qcontactz ครับ เวลาที่เราจะส่งอีเมลหาใคร เราพิมพ์ชื่อหรืออีเมลแอดเดรสเข้าไป มันจะไปค้นใน Qcontactz มาครับ
ทีนี้ถามว่ามีข้อจำกัดไหม? ตัว QmailAgent ณ ตอนนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่บางเรื่องครับ เช่น
- การค้นหาข้อมูล ค้นแค่ในส่วนของชื่อคนส่ง ชื่อคนรับ หัวข้อของอีเมล แต่ไม่มี Full Text Search น่าเสียดายๆ
- โหมดการแสดงผลเป็นแบบไล่เรียงอีเมลไปทีละฉบับ ไม่มีการแสดงผลแบบ Conversation ที่ Email client หลายๆ เจ้าเขาทำกัน ซึ่งมันสะดวกเวลาที่จะตามไล่อ่านบทสนทนา ในกรณีที่อีเมลโต้ตอบกันไปมาหลายรอบ
- ไม่มี Push notification ครับ เราต้องตั้งว่าจะอัพเดตอีเมลกับทางเซิร์ฟเวอร์ทุกๆ กี่นาที (ซึ่งค่า Default คือประมาณ 3 นาที) ทำให้เราอาจจะพลาดอีเมลฉบับล่าสุดไปบ้าง แต่มันก็มีปุ่ม Refresh ให้เรา Reload เมลเองครับ
- และการอัพเดตอีเมลทุกๆ xx นาทีเนี่ย ก็ทำให้เวลาเราลบอีเมลใน QmailAgent แล้ว กว่ามันจะไปอัพเดตในตัวบริการอีเมลจริงๆ ก็ต้องรออัพเดตเช่นกัน
- ไม่มีกล่องเมลแบบ All Inboxes ที่เปิดทีเดียวเห็นเมลทุกบัญชีพร้อมกัน ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจบางคนที่ชอบอ่านทีเดียว เห็นหมด
- ถ้าจะให้เชื่อมต่อแบบปลอดภัย ต้องล็อกอินผ่าน SSL แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง (ประมาณ 1,500 บาท ต่อ 3 ปี)
แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ก็ไม่ใช่ข้อจำกัดร้ายแรง และเกือบทั้งหมดสามารถปรับปรุงได้ในอนาคต เพราะมันเป็นข้อจำกัดด้านฟังก์ชันของซอฟต์แวร์ครับ