นานๆ ที รีวิวแท็บเล็ตราคาประหยัดบ้าง G-Pad 7.0 EXplorer IV

เดี๋ยวนี้หันไปทางไหน ใครๆ เขาก็มี Tablet ใช้กันแฮะ มันกลายเป็นสินค้าไอทีที่ใครๆ ก็อยากมีไว้ใช้ บางคนที่มีเงินในกระเป๋ามากหน่อย ก็คงจะเล็งๆ iPad หรือไม่ก็ Android Tablet ระดับไฮเอนด์ ส่วนใครที่งบน้อย ก็ต้องเมียงมองหา Android Tablet ราคาประหยัดมาใช้กัน ซึ่งหลังๆ นี่ผมเห็นวางขายกันแบบแผงลอยแถวบ้านเลยครับ (เอ้า! นี่เรื่องจริงนะครับพี่น้อง) สนนราคาของ Android Tablet แบบขายกันตรงแผงลอยนี่จะอยู่ราวๆ สองพันกว่าบาท แต่ต้องแลกมาด้วยความกังวลว่า แล้วการรับประกันหลังการขายจะเป็นยังไงล่ะเนี่ย
พอดีว่า @krapalm แห่ง MobileDista เขาได้ของมาลอง แล้วผมก็ไปเจอน้องกระปาล์มเขาพอดี ก็เลยถือโอกาสยืมมาลอง ยืมตั้งแต่ก่อนจะไปอเมริกา จนกระทั่งกลับจากอเมริกามาแล้ว ก็ยังไม่ได้เขียนรีวิว ก๊ากๆ … แต่ในที่สุด ก็ได้เวลาอันสมควรที่จะรีวิวกับเขาซักทีครับ
ประสบการณ์แรกสุด … การสัมผัสกับของจริง
รูปร่างหน้าตา และความรู้สึกที่ได้สัมผัสกับวัสดุในการประกอบของ G-Pad 7.0 EXplorer IV ตัวนี้ ต้องบอกว่าเหมือนๆ กับการสัมผัสพวก Android Tablet ราคาประหยัดสุดติ่งจากประเทศจีนครับ ก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะผมเดาว่า G-NET ก็คง OEM จากผู้ผลิตกลุ่มนั้นอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเป็นของมีแบรนด์ งานเลยออกมาดูเนียนกว่า ชะรอยว่ามี QC ในการควบคุมคุณภาพมาในระดับหนึ่งแล้ว
หน้าจอของเจ้า G-Pad 7.0 EXplorer IV ตัวนี้ก็ตามเลขรุ่นนั่นแหละ ขนาด 7 นิ้ว ความละเอียด 480×764 พิกเซล (ประมาณ 129 ppi) สามารถรองรับการสัมผัสพร้อมกันได้สูงสุด 5 จุด มาพร้อมกับกล้องด้านหน้าความละเอียด 3 แสนพิกเซล และแม้ว่าจะใช้ระบบปฏิบัติการ Android 4.0 Ice Cream Sandwich แล้ว แต่ก็ยังมีปุ่ม Menu, Home และ Back อยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตอนแรกคงตั้งใจออกมาเป็น Android 3.2 Honeycomb มากกว่า
ส่วนด้านหลังเรียบง่าย มีแค่ลำโพงของตัวเครื่อง กับชื่อยี่ห้อ รุ่น และข้อความนิดหน่อย
รอบๆ ตัวเครื่อง ส่วนใหญ่ก็จะเรียบๆ ไม่มีอะไร ก็จะมีแค่ปุ่มปรับระดับเสียงและปุ่มเปิดปิดหน้าจอที่ด้านขวามือ
ส่วนด้านล่างก็จะเป็นช่องสำหรับเสียบสายชาร์จซึ่งเป็นหัวชาร์จแบบกลม (ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ ทั้งๆ ที่ตัวสายชาร์จก็เป็นแบบ USB และตัว Wall Charge ก็จ่ายไฟ 5V 1A ตามมาตรฐานของพวก Wall Charge สำหรับ Smartphone ทั่วๆ ไปซึ่งใช้หัวชาร์จแบบ Micro USB ได้) แล้วก็มีพอร์ต Micro USB, รูไมโครโฟ, สล็อตสำหรับใส่ MicroSD Card และ ช่องสำหรับเสียบหูฟัง 3.5 มม.
ที่น่าสังเกตคือ มันเหมือนจะมีร่องสำหรับพอร์ต Mini HDMI เตรียมเอาไว้ด้วย แต่ไม่มีพอร์ตนี้ … คงอาจจะเป็นบอดี้สำหรับใช้กับรุ่นอื่นยี่ห้ออื่นรึเปล่า?!?
สเปกของเครื่องและประสิทธิภาพ
บอกตรงๆ ว่าเจ้านี่ให้รายละเอียดสเปกมาน้อยมาก และเพราะมันน่าจะเป็น OEM จากจีน เลยยิ่งทำให้ผมหารายละเอียดสเปกของมันแบบเจาะลึกแทบไม่ได้เลย -_-” เอาเป็นว่า เล่าเท่าที่รู้แล้วกันนะครับ ข้อมูลส่วนหนึ่งก็มาจากสเปกข้างกล่อง อีกส่วนก็มาจาก System Info นั่นแล
- CPU: Single-core 1.2GHz (แต่เปิดดูจาก System Info บอกว่า 1.08GHz)
- RAM: 512MB (แต่เหลือให้ใช้จริงๆ 362.7MB)
- ROM: 4GB แบ่งเป็น 1GB สำหรับลง App และอีก 2GB จะถูกมองเป็น SD Card … ที่หลายไปอีก 1GB น่าจะเป็นตัว OS เองอ่ะนะ
- Display: 7.0 นิ้ว ความละเอียด 480×764 พิกเซล (ประมาณ 129ppi) สัมผัสพร้อมกันได้สูงสุด 5 จุด
- Battery: ไม่ระบุชัด บอกแต่ว่าสามารถเล่นวิดีโอต่อเนื่องได้ 7 ชั่วโมง
สเปกไม่ละเอียดเลยจริงๆ ให้ตายสิ … แต่ก็อีกนั่นแหละ คนที่งบน้อย ส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้มองรายละเอียดตรงนี้มากเท่าไหร่ … ส่วนตัวผมเอง คงต้องไปหวังพึ่งโปรแกรม Benchmark ต่างๆ เพื่อบอกว่าเจ้านี่สเปกแรงไม่แรงยังไง ก็เป็นไปตามรูปด้านล่างนี่แหละครับ
ดูจากตัวเลขผลการทดสอบนี้แล้ว ผมสรุปได้ว่าสเปกของเจ้า G-Pad 7.0 EXplorer IV นั้น
- แม้ว่าบนกล่องจะระบุว่า 1.2GHz แต่จากที่ System Info บอกว่ามันความเร็ว 1.08GHz และคะแนนผลการทดสอบมันออกมาแบบนี้ บอกได้เลยว่าเจ้านี่ประสิทธิภาพประมาณพอๆ กับ Single-core 1GHz จริงๆ ครับ
- หน่วยความจำและประสิทธิภาพของ I/O นั้น ในส่วนของ Quadrant Advanced ได้คะแนนค่อนข้างดี แต่พอมาดูที่ AnTuTu Benchmark แล้ว เห็นได้ชัดว่าความเร็วของตัว Flash Memory ที่มาพร้อมกับตัวเครื่องนั้นไม่ได้เร็วเท่าไหร่
- ประสิทธิภาพในการประมวลผล 3D นั้น ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน … ส่วนแรกคือ 3D ในระดับพื้นฐาน ซึ่งเจ้านี่ถือว่าทำออกมาได้ดี ดูได้จากผลคะแนนของ Nenamark 1 ครับ แต่ว่าพอเป็น 3D ระดับสูง ที่มีพวกเอฟเฟ็กต์เยอะขึ้น ทำออกมาได้ไม่ดีเท่าไหร่ … แต่ก็จะเอาอะไรมากกับ Android Tablet ค่าตัว 3,990 บาทอ่ะ
- ผลคะแนนของ Vellamo Mobile Web Benchmark ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลคือตัวเบราเซอร์และตัว CPU เป็นหลัก การได้คะแนน 776 นี่ก็สมตัว CPU Single-core 1GHz อยู่แล้ว
ประสบการณ์ในการใช้งาน G-Pad 7.0 EXplorer IV
ออกตัวก่อนว่าเจ้านี่แปลกมาก ปกติแล้ว Android Device ที่เป็น Android 4.0 Ice Cream Sandwich น่าจะมาพร้อมกับคุณสมบัติในการจับภาพหน้าจอด้วยการกดปุ่ม Volume Down + Power แล้ว แต่ว่าเจ้านี่ทำไม่ได้ ประกอบกับผมเองก็ขี้เกียจเอากล้องมาถ่ายภาพหน้าจอ ผมก็เลยขี้เกียจเก็บภาพหน้าจอมาฝาก (ขออภัยในความขี้เกียจ) … ดังนั้น ขอเล่าเป็นข้อความแทนแล้วกันนะครับ
- หน้าจอสัมผัสของ G-Pad 7.0 EXplorer IV นั้นเป็น Capacitive True Multitouch ที่รองรับได้ 5 จุดจริงๆ ไม่ได้โม้ เพียงแต่บางทีมันสัมผัสไม่ติด หรือผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้เกิดบ่อย คงต้องให้อภัยเพราะค่าตัวมันก็ถูกซะเหลือเกิน
- โดยทั่วไปแล้ว ต้องบอกว่าสเปกของเจ้านี่ไม่เลวนัก และแม้ขนาดหน้าจอจะใหญ่ แต่ความละเอียดของหน้าจอไม่ได้มาก ทว่าเพราะความสามารถในการประมวลผลกราฟิกไม่ว่าจะ 2D หรือ 3D มันไม่ค่อยสูงมาก ก็เลยทำให้ไม่ลื่นเท่าใดนักเวลาใช้งาน … แต่ก็อีกนั่นแหละ ค่าตัว 3,990 บาท จะเอาอะไรกับมัน?
- อีกอันนึงที่เป็นไปตามคาดก็คือ Android Device ที่ราคาประมาณนี้ จะมีจุดอ่อนในเรื่องของจอภาพครับ มันจะต้องมีมุมมองด้านนึงที่จะสีสันเพี้ยน ซึ่งเจ้านี่ก็มีเหมือนกัน … แต่ที่ดีกว่าที่ผมเคยเจอก็คือ ปกติหากเจอสีสันเพี้ยนด้านนึงแล้ว มันจะส่งผลให้ภาพออกมาดูเป็นเงาๆ แม้จะมองตรงๆ ก็ตาม แต่เจ้านี่ไม่เป็น
- จะเอาไว้ดูหนังฟังเพลงก็พอไหว แต่อย่าคิดจะเล่นไฟล์ 720p หรือ 1080p โดยเด็ดขาด สเปกไม่ได้แรงเหลือเฟือขนาดนั้น ควรแปลงไฟล์หนังให้มีความละเอียด 480p จะรุ่งกว่า … แต่ที่แน่ๆ หา MicroSD Card มาใส่ซะนะครับ … ลำโพงที่มากับตัวเครื่อง ดังแค่พอประมาณ เวลาจะดูหนังฟังเพลงจริงๆ แนะนำเสียบหูฟัง
- ไม่มีกล้องด้านหลัง แต่มีกล้องด้านหน้าความละเอียด 3 แสนพิกเซล เท่าที่ลองถ่ายรูปดู ไม่ใช่กล้องที่เอาไว้ถ่ายรูปตัวเองแน่นอน แต่เอาไว้ทำ Video Call พอไหว
- แม้จะมี Accelerometer ไว้คอยหมุนหน้าจอ แต่การตอบสนองค่อนข้างช้าถึงช้ามากในบางครั้ง เวลาจะใช้ต้องใจเย็นๆ
- มันไม่ใช่ Tablet ขนาด 7 นิ้วที่เอา Android เวอร์ชัน Smartphone มาใช้ … เจ้านี่เป็นเวอร์ชัน Tablet จริงๆ
โดยสรุปแล้ว เกี่ยวกับ G-Pad 7.0 EXplorer IV
สำหรับคนงบน้อย (มากๆ) แต่ไม่อยากตกเทรนด์ Tablet กับเขา เจ้านี่อาจเป็นทางเลือก สเปกก็ดีพอประมาณ ใช้ทำงานอะไรหลายๆ อย่างที่ Tablet มันสมควรจะทำได้ก็ได้อยู่ ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง ท่องเว็บ … พวก App ที่ลงมาให้กับเครื่อง เท่าที่สังเกต ก็เน้นไปที่ App ยอดนิยมสำหรับคนทั่วๆ ไป เช่น เกมอย่าง Angry Birds Rio และ Fruit Ninja, โปรแกรมแชทอย่าง LINE และ MSN Messenger หรือโปรแกรมดิชันนารี เป็นต้น